อ.เจษฎา เตือน ปลาหมอคางดำสีสวย แต่แฝงภัยอันตรายเพียบ


 อ.เจษฎา เคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำสีสวยที่พบในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งมีอันตรายไม่แพ้ปลาหมอคางดำสีตุ่น แนะนำให้กำจัดให้หมดจากระบบนิเวศ และสามารถนำไปปรุงอาหารได้


เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพปลาหมอคางดำในแอ่งน้ำเน่าขนาดเล็กที่มีลักษณะแตกต่างจากตัวอื่นๆ โดยมีลำตัวสีเหลืองอร่าม และมีสีฟ้าและสีม่วงไล่สีตามครีบ ซึ่งต่างจากปลาหมอคางดำที่เคยพบทั่วไปที่มีลำตัวสีดำคล้ายปลานิล เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี


ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 “อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาคลายข้อสงสัยว่า ปลาหมอคางดำตัวผู้ที่มีสีสันสวยงามนี้เกิดจากการอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ โดยจะขับสีออกมาเพื่อดึงดูดตัวเมีย คล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลานิลที่เปลี่ยนสีในช่วงฤดูผสมพันธุ์เช่นกัน


ปลาหมอคางดำเป็นปลาต่างถิ่นที่กำลังระบาดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดา รัฐฮาวาย และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากการลักลอบนำเข้าโดยผู้ค้าปลาสวยงาม สำหรับประเทศไทย ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปลาชนิดนี้เข้ามาได้อย่างไร


สำหรับวิธีจัดการกับปลาหมอคางดำในต่างประเทศนั้น มีการส่งเสริมให้จับมากินหรือทำอาหารสัตว์ ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวทางที่กำลังรณรงค์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ที่ฮาวายยังมีกรณีโรคระบาดในปลาหมอคางดำและปลาหมอชนิดอื่น ๆ ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากด้วย


อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎา ย้ำเตือนว่าแม้ปลาหมอคางดำจะมีสีสันสวยงาม แต่ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น หากปล่อยให้ปลาหมอคางดำขยายพันธุ์ต่อไป อาจส่งผลต่อระบบนิเวศ ดังนั้น แนะนำให้จับปลาหมอคางดำไปประกอบอาหารเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ


อ.เจษฎา เตือน ปลาหมอคางดำสีสวย แต่แฝงภัยอันตรายเพียบ