ช่วงนี้มีข่าวลือในโลกออนไลน์ว่าการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบ่อยๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว
ข่าวลือที่ว่าเป็นการตีความผลการวิจัยผิดพลาด งานวิจัยที่กล่าวถึงนั้นศึกษาเกี่ยวกับสาร Bisphenol A (BPA) ที่อาจพบในพลาสติกบางชนิด ซึ่งอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ แต่ BPA ไม่ได้พบในขวดน้ำพลาสติกที่เราใช้กันทั่วไป
ขวดน้ำพลาสติกส่วนใหญ่ทำจาก PET (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ปลอดภัยและไม่มีการปนเปื้อนของ BPA ดังนั้น การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกใสทั่วไปจึงไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานแต่อย่างใด
ในการศึกษาที่สุ่มทดลองกับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี 40 คน มีการแบ่งกลุ่มให้คนรับยาหลอก (Placebo) และคนรับสาร BPA 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยสารเคมีนี้ได้รับโดยตรงเทียบเท่ากับปริมาณที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ใช้ ผลการทดสอบพบว่าผู้ที่ได้รับสาร BPA จะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหลังจาก 4 วัน ส่งผลต่อการเผาผลาญกลูโคส
อย่างไรก็ตาม BPA มักใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และขวดน้ำพลาสติกที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ซึ่งมี BPA ปนอยู่ อาจลดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA) จึงเรียกร้องให้อุตสาหกรรมควบคุมปริมาณ BPA อย่างเข้มงวด
สรุปได้ว่า การดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่ม PET ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เพราะไม่มีสาร BPA เป็นส่วนผสม แต่อย่างไรก็ดี การใช้ขวดโพลีคาร์บอเนตยังอาจน่ากังวล เพราะมีสาร BPA เป็นส่วนประกอบสูง